SISTERS WITH TRANSISTORS

567x567_Sisters_with_Transistors.jpg

ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Sisters With Transistors (2020) คือการนำเสนอประวัติศาตร์ของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเหล่าศิลปินหญิงผู้มีวิสัยทัศน์ที่ได้บุกเบิกทดลองอย่างหนักกับเครื่องจักรต่างๆ จนเกิดเป็นนิยามใหม่ของดนตรี ประกอบไปด้วย Clara Rockmore, Daphne Oram, Bebe Barron, Pauline Oliveros, Delia Derbyshire, Maryanne Amacher, Eliane Radigue, Suzanne Ciani และ Laurie Spiegel

สำหรับใครที่อยากดูภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Sister With Transistors ก็สามารถไปเช่าดูได้แบบสตรีมมิ่งในราคา 8.99$ เท่านั้น

ประวัติศาสตร์ของผู้หญิงเป็นประวัติศาสตร์แห่งความเงียบมาเสมอ แต่สำหรับดนตรีนั้นไม่มีข้อยกเว้น

Laurie Spiegel

Laurie Spiegel

Laurie Spiegel หนึ่งในศิลปินหญิงได้กล่าวไว้ว่า

"ผู้หญิงเรามักสนใจในดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เป็นพิเศษ เมื่อความเป็นไปได้ในการแต่งหรือประพันธ์เพลงของผู้หญิงนั้นยังเป็นสิ่งที่ขัดแย้งและมีความสับสนในตนเอง แต่ดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้เราสามารถสร้างเพลงที่คนอื่นฟังได้โดยไม่ต้องสนใจความคิดจากเหล่าสถานประกอบการที่มีแต่ผู้ชาย" ด้วยบริบททางสังคม, การเมือง และวัฒนธรรมที่กว้างขึ้นของศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นฉากหลังของหนังนั้น สารคดีเรื่องนี้จะแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยที่ไม่เหมือนใคร เป็นการคืนบทบาทสำคัญของสตรีในประวัติศาสตร์ดนตรีและสังคม


Sisters with Transistors เป็นมากกว่าประวัติศาสตร์ของแนวดนตรี แต่มันเกี่ยวกับเรื่องราวที่มีที่มาของสิ่งที่พวกเราได้ฟัง และผู้บุกเบิกหญิงที่มีบทบาทสำคัญ แต่กลับไม่ค่อยมีใครรู้จัก โดยมี Laurie Anderson (ศิลปิน/ผู้กำกับหญิงที่มีชื่อเสียงในยุค 70s-80s) มาเป็นผู้บรรยายเล่าเรื่อง เราจะเริ่มต้นการเดินทางอันน่าสนใจผ่านวิวัฒนาการของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ และจะได้เรียนรู้ว่าอุปกรณ์ใหม่ๆ สามารถเปิดเพลงไปยังสาขาเสียงต่างๆ ได้อย่างไร รวมถึงเรื่องที่ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช่แค่เปลี่ยนวิธีการสร้างเพลง แต่เปลี่ยนแง่คิดทางดนตรีอย่างหลากหลายในวงกว้างอีกด้วย มารู้จักกับเหล่าศิลปินหญิงผู้บุกเบิกดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์จากสารคดีเรื่องนี้กันดีกว่า


Pauline Oliveros

Pauline Oliveros

“Why have there been no great woman composers?”

“ทำไมถึงไม่มีนักแต่งเพลงหญิงที่ยิ่งใหญ่บ้างเลยล่ะ”

ประโยคจากบทความในหนังสือพิมพ์ New York Times ปี 1970 ของ Pauline Oliveros


2 x 3 (2).png

Clara Rockmore (1928)

แม้ว่าในยุคนั้นดนตรีอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นอะไรที่แปลกแยกจากดนตรีแนวปกติ แต่ Clara Rockmore (9 มีนาคม 1911 – 10 พฤษภาคม 1998) ศิลปินหญิงเดี่ยวชาวลิทัวเนียผู้มากความสามารถได้เลือกที่จะใช้เครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นแรก ๆ ของโลกอย่าง theremin (เครื่องดนตรีไฟฟ้าที่เสียงฟังคล้ายเสียงอู้ของเซลโล แต่ระดับเสียงสูงต่ำจะแกว่งไปมาคล้ายคนฮัมเพลง โดยผู้เล่นจะทำการโบกมือในอากาศเพื่อสร้างและควบคุมเสียง) ในการแสดงดนตรีคลาสสิกร่วมกับวงออเครสตร้า New York Philharmonic, the Philadelphia Orchestra และ the Toronto Symphony

เธอมีความเชี่ยวชาญในเครื่องดนตรีชิ้นนี้มาก และยังมีส่วนร่วมในการออกแบบกับ Professor Theremin ผู้ประดิษฐ์และปรับแต่งเครื่องดนตรีชิ้นนี้ให้เสียงมีความแม่นยำที่สุด เธอได้สร้างทั้งความประหลาดใจและประทับใจให้ผู้ชมทั่วโลก ซึ่งอาจบอกได้ว่า Clara Rockmore เป็นผู้ที่นำเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มาสู่คอนเสิร์ตในฮอลล์นั่นเอง 

"ฉันต้องสร้างสไตล์และมาตรฐานการแสดงของตัวเองขึ้นมาให้ได้ เพื่อเอาชนะใจประชาชนและทำให้คิดว่า theremin นั้นคือศิลปะอันงดงาม" Rockmore กล่าว


Daphne Oram (1949)

Daphne Oram  นักแต่งเพลงและนักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ เธอมีความหลงใหลในเสียงดนตรีและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่ตอนที่เธออายุ 18 ปี จนเมื่อเธอเริ่มทำงานที่ BBC ในตำแหน่ง sound engineer ซึ่งเป็นสมัยที่ผู้ชายส่วนมากในประเทศรับราชการทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงต้นทศวรรษที่ 40 เธอเริ่มอาชีพเกี่ยวกับการออกอากาศทางวิทยุ ในระหว่างนั้นเธอได้พัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับเสียงอย่างต่อเนื่อง เธอทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ในการค้นหาวิธีใหม่ๆ ในการสร้างเสียงด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ Daphne Oram ยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง BBC Radiophonic Workshop แผนกเอฟเฟคเสียงเพื่อวิทยุ และโทรทัศน์ของ BBC

รวมถึงเธอยังเป็นนักแต่งเพลงชาวอังกฤษคนแรกๆ ที่ผลิตและเรียบเรียงเสียงอิเล็กทรอนิกส์จากการบันทึกภาคสนามในแบบ Musique Concrete (งานประพันธ์ที่นำเอาเสียงที่เกิดขึ้นโดยทั่วๆ ไป ซึ่งอาจจะใช่หรือไม่ใช่เสียงดนตรีนำมาทำการทดลอง โดยเทคนิคต่างๆ เช่น ตัดแปะ, ทำซ้ำ หรือการทำเป็น loop เป็นการนำเอาเสียงที่ถูกบันทึกมาตัดต่อหรือดัดแปลง) ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่เราฟังในปัจจุบัน ต่อมาในปี 1959 เธอได้ลาออกจาก BBC และได้เปิด Oramics Studios เพื่อทำงานเพลงและอุทิศให้กับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่เธอนั้นใช้เวลาพัฒนาขึ้นมาทั้งชีวิตอีกด้วย


2 x 3 (4).png

Bebe Barron (1956)

Bebe Barron นักประพันธ์เพลงอิเล็กทรอนิกส์ชาวอเมริกัน ผลงานของเธอ (ร่วมกับ Louis Barron สามีของเธอ) คือหนึ่งในเทปดนตรีที่มีความแปลกประหลาดที่สุดในประวัติศาสตร์ พวกเขาทั้งคู่ได้รับของขวัญวันแต่งงานเป็น เครื่องบันทึกเสียงแบบเทปซึ่งเป็นรุ่นแรก ๆ สุดที่ใช้ม้วนเทปแบบแม่เหล็กพลาสติก ต่อมาทั้งคู่ได้ก่อตั้งสตูดิโอแบบส่วนตัวเพื่อทำงานเพลงแนว Electroacoustic (แนวดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีปรับแต่งเสียงจากเครื่องเล่นอะคูสติก) ในปี 1949 ที่ Greenwich Village ซึ่งเป็นที่ ๆ พวกเขาได้บันทึกเสียงให้งานของศิลปินมากมาย เช่น งานของ Tennessee Williams (นักเขียนบทละครเวที) ในรูปแบบ Audio Book หรืองานเพลงของ John Cage นักประพันธ์เพลงแนวทดลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกคนนึงอีกด้วย

ต่อมาในปี 1956 Bebe และ Louis ได้สร้างเพลงประกอบภาพยนตร์ในแนวดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นครั้งแรกของโลกจากวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำขึ้นเอง ให้กับภาพยนตร์เรื่อง  Forbidden Planet  ซึ่งแนวทางของ Barron ในการจัดวางและปรับแต่งเสียงจากเครื่องเทปหลาย ๆ เครื่อง สามารถพบเห็นได้ในยุคปัจจุบันอย่างใน multi-tracking ที่เป็นพื้นฐานสำหรับสตูอิโอบันทึกเสียงสมัยใหม่นั่นเอง



2 x 3 (5).png

Pauline Oliveros (1959)

Pauline Oliveros นักแต่งเพลงและนักหีบเพลง เริ่มศึกษาและทดลองดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงปลายทศวรรษที่ 50 รวมถึงยังเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งคนสำคัญของ San Francisco Tape Music Center (สตูดิโอดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์และสถานที่จัดแสดงคอนเสริ์ต) ร่วมกับนักแต่งเพลงอีก 2 คนได้แก่  Ramon Sender และ Morton Subotnick ผลงานของเธอนำเสนอเสียงที่ชวนให้นึกคิด ทั้งเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา แนวคิดอัตถิภาวนิยม ที่เกี่ยวกับความทุกข์ ความสับสนของตนเอง นอกจากนี้ Oliveros ยังพูดถึงประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศอยู่ตลอด อย่างในบทความที่เธอเขียนใน NY Times ปี 1970 "ทำไมถึงไม่มีนักแต่งเพลงหญิงที่ยิ่งใหญ่บ้างเลยล่ะ" ซึ่งเธอยกม่านอคติทางเพศและความคาดหวังของสังคมเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในประเทศออกมาพูด 

"ฉันทำงานเพื่อจะสร้างบรรยากาศที่เปิดกว้าง ให้ทุกคนสามารถฟังมันได้ด้วยความเข้าใจว่าการฟังเพลงนั้นคือการเยียวยา"


Delia Derbyshire (1963)

Delia Derbyshire เป็นนักแต่งเพลงและนักคณิตศาตร์ชาวอังกฤษ เธอเคยทำงานที่ BBC Radiophonic Workshop และได้กลายเป็นวีรสตรีทางวัฒนธรรมคนนึงของโลก จากผลงานการเรียบเรียงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ของเธอใน “Dr.Who Theme” ในปี 1963 หนึ่งในดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นแรกๆ ที่ใช้ในทีวี 

Derbyshire สามารถนำเทคนิคของการทำเพลงอิเล็กทรอนิกส์ในยุคแรกอย่าง musique concrete และการปรับแต่งเทปไปสู่ผู้ชมในวงกว้าง ซึ่งแรงบันดาลใจที่สร้างเอกลักษณ์ให้งานของเธอนั้นมาจากเสียงไซเรนจู่โจมทางอากาศที่เธอได้ยินในตอนเด็กๆ ระหว่างการทิ้งระเบิดที่เมืองโคเวนทรี บ้านเกิดของเธอในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั่นเอง


2 x 3 (7).png

Maryanne Amacher (1967)

Maryanne Amacher ศิลปิน sound art และนักแต่งเพลงอิเล็กทรอนิกส์ชาวอเมริกัน ผู้มีชื่อเสียงในการควบคุมระดับของเสียง และมีใจรักในวิทยาศาสตร์ของเสียงอย่างมาก เธอเป็นทั้งลูกศิษย์ของ Karlheinz Stockhausen (หนึ่งในศิลปินนักแต่งเพลงชาวเยอรมันผู้บุกเบิกดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่โดดเด่นคนนึงของโลก) และยังเคยร่วมงานกับ John Cage (หนึ่งในนักประพันธ์เพลงแนวทดลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก) และ Merce Cunningham (นักเต้นสมัยใหม่แถวหน้าของอเมริกันในยุคนั้น) อีกด้วย

งานของเธอทำให้เกิดการพัฒนาที่สำคัญของสื่อเสียง รวมถึง installation arts, sound art และเธอยังเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในด้านการศึกษาจิตสวนศาตร์ ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับประสาทสัมผัสของมนุษย์ด้านการได้ยินอีกด้วย


2 x 3 (8).png

Eliane Radigue (1970)

Eliane Radigue นักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศส ผู้ที่ได้เริ่มรู้จักกับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์จากรายการวิทยุในยุค 50s ต่อมาหลังจากนั้นไม่นานด้วยความบังเอิญ เธอได้รับโอกาสฝึกงานกับ Pierre Schaeffer และ Pierre Henry ผู้คิดค้นและพัฒนาการประพันธ์เพลงแบบ musique concrète จนเมื่อเธอสร้างผลงานของตัวเอง เธอได้พัฒนาเทคนิคเจาะจงไปที่การใช้เสียง feedback (เสียงหวีดหอนของไมค์) และการสร้าง loop จากเทปในแบบที่เธอสนใจ นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้ริเริ่มใช้ ARP 2500 modular synthesizer จนกลายเป็นซาวด์เอกลักษณ์ในงานของเธอ (รุ่นของซินธิไซเซอร์แบบอนาล็อกที่มีชื่อเสียง จนหลังจากนั้นศิลปินอย่าง The Who, Jimmy Page, David Bowie ก็เลือกใช้ซินธ์รุ่นนี้ด้วยเช่นกัน)

Radigue เป็นศิลปินที่ใช้ระยะเวลาในการแต่งและเรียบเรียงดนตรีของเธอนานมากกว่าปกติ ซึ่งแสดงถึงความพิถีพิถันในการเลือกใช้เสียง รวมถึงการฟังที่ลึกซึ้งของเธอเป็นอย่างมาก


Suzanne Ciani (1976)

Suzanne Ciani เป็นนักแต่งเพลงหญิงในแนวอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกเสนอชื่อใน Grammy Awards ถึง 5 ครั้ง หลังจากเธอได้จบการศึกษาการเรียนประพันธ์เพลงจากมหาวิทยาลัย Berkeley เธอได้อุทิศตัวเองให้กับการสร้างเพลงจากเครื่องจักรต่างๆ และเลือกใช้ Buchla synthesizers เป็นเครื่องดนตรีประจำตัวตลอดมา 20 ปี นอกจากนี้เธอยังเลือกแสดงสดดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ด้วยซาวด์แบบ quadrophic อีกด้วย (ระบบเสียงรอบทิศทางที่เป็นต้นกำเนิดระบบเสียง surround ในปัจจุบัน)

นอกจากนี้ Ciani ยังได้รับผิดชอบการทำดนตรีประกอบโฆษณาทีวี หรือสร้างเสียงระดับ iconic ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งในอเมริกา ในยุค  70s-80s อย่างเช่น เสียงเอ็ฟเฟคเปิดกระป๋องและรินน้ำในโฆษณา Coca-Cola ที่เรียกได้ว่าเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก รวมถึง Ciani ยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ให้กับหนังฮอลลีวูด ในเรื่อง ‘The Incredible Shrinking Woman’ ปี 1981ที่นำแสดงโดย Lily Tomlin อีกด้วย


Laurie Spiegel (1986)

Laurie Spiegel นักแต่งเพลงชาวอเมริกัน เธอเติบโตมาด้วยการเล่นกีตาร์ และลูต (เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายรูปร่างคล้ายกีตาร์ตัวเล็ก) ต่อมาในฐานะนักเรียนดนตรีและนักแต่งเพลงรุ่นใหม่ เธอได้รู้จักกับ analog synthesizers และตกหลุมรักเสียงของมันทันที จากนั้นในปี 1973 เธอได้เริ่มทำงานกับ Bell Labs (บริษัทที่ต่อมาได้ผลิตมือถือ Nokia) ในฝ่าย Computer Graphics และเรียนรู้ในการใช้โปรแกรมในยุคนั้นกับคอมพิวเตอร์เครื่องยักษ์ หนึ่งในงานประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ของเธอนั่นคือ "Music of the Spheres" ที่เธอได้นำโน้ตเพลงมาจากหนังสือ Harmonices Mundi ของ Johannes Kepler (นักดาราศาตร์ชาวเยอรมันในช่วงศตวรรษที่ 16) มาเรียบเรียงและบรรเลงด้วยการเขียนจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นงานประพันธ์ที่ถูกบรรจุอยู่ใน Golden Record แผ่นเสียงทองคำที่ถูกส่งออกไปเดินทางข้ามระบบสุริยะข้ามดวงดาวในปี 1977 เพื่อสักวันอาจมีสิ่งมีชีวิตที่มีอารธรรมได้พบเข้า ในแผ่นบรรจุไปด้วยวัฒนธรรมประเพณีของโลกใบนี้ไว้ในรูปแบบเสียง ทั้งภาษาต่าง ๆ ทั่วโลก เพลง และเสียงอื่นๆ

ต่อมาในปี 1985 Spiegel ได้ซื้อคอมพิวเตอร์ Mac 512k เพื่อมาพัฒนาโปรแกรม Music Mouse โปรแกรมสุดแหวกแนวที่สามารถเปลี่ยนเครื่อง Mac ให้เป็นเครื่องดนตรี และสามารถเขียนโปรแกรมเพลงรวมถึงแต่งเพลงกับเรียบเรียงได้ในกระบวนการเดียว Music Mouse กลายเป็นแอปพลิเคชั่นที่ต้องการอย่างรวดเร็ว เป็นหนึ่งในซอฟแวร์เพลงรุ่นแรก ๆ ที่มีให้สำหรับผู้บริโภคเลยทีเดียว

 

THE LATEST

Previous
Previous

#HYHTHROWBACK : DEVENDRA BANHART

Next
Next

WOLF ALICE - BLUE WEEKEND [NEW ALBUM RELEASE]