LGBTQ+ Movement & Rock Music in the 60s-70s

PRIDEMONTH_567.jpg

การขับเคลื่อนของ LGBTQ+ ผ่านวงการ Rock & Roll ใยยุค 60s - 70s

gay pride1976...jpg

หากพูดถึงความเท่าเทียมที่ผู้คนทั่วโลกต่างต่อสู้เพื่อจุดยืนของตัวเองแล้ว ต้องยอมรับว่าเรื่องความหลากหลายทางเพศ เป็นหนึ่งในการต่อสู้ที่มีมาอย่างยาวนานในหลายยุคหลายสมัย ผ่านการขับเคลื่อนมากมายหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะ วัฒนธรรม หรือดนตรี สิ่งเหล่านี้ช่วยผลักดันจุดยืนของ LGBTQ+ ได้อย่างไร? เนื่องจากเพิ่งผ่านพ้นเดือน Pride Month ไป เราจึงอยากพาทุกคนไปย้อนดูการขับเคลื่อนสังคมผ่านมุมมองของนักดนตรีร็อก ว่านอกจากสร้างผลงานดีๆ ให้เราฟังแล้ว พวกเขายังมีบทบาทในการสร้างแรงกระเพื่อมใหญ่ๆ กับสังคมในมุมมองที่มีต่อ LGBTQ+ อย่างไรบ้าง

ย้อนกลับไปในปี 30s-40s ทุกๆ ประเทศทั่วโลก มองว่าการเป็นคนรักร่วมเพศถือเป็นอาชญากรรมอย่างนึง ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีบทเพลงหรือหนังที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ หรือแม้กระทั่งผลงานเพลงจากศิลปินที่เป็น LGBTQ+ เมื่อไม่มีผลงานออกมา ก็ไม่มีผู้เสพหรือผู้ดู เรียกได้ว่าเป็นสังคมที่ปิดเงียบแบบนี้นานมาถึงช่วงปี 1960 ที่เริ่มมีการเปิดกว้างให้คนรักร่วมเพศมีสิทธิมากขึ้น (Gay Rights Liberation)


การบุกเบิกกระแส “Glam rock”

ทางด้านกลุ่มศิลปินสายร็อกผู้บุกเบิกอย่าง Marc Bolan วง T-Rex ก็เริ่มแสดงออกผ่านการแต่งหน้าและแต่งตัว หรือที่เรียกว่ากระแส glam rock คือการใส่เสื้อผ้าสีสันฉูดฉาด รัดๆ หรือกางเกงขาสั้น อย่างการแสดงเพลง “Hot Love On Top Of The Pops”  พวกเขาสวมชุดกะลาสี โดยนัยคือสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นชาย แต่ลายผ้าเป็นซาตินสีเงินแวววาว ผมยาวปล่อยเป็นลอน เป็นการผสมผสานทางเพศที่ถือว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับวงการดนตรีร็อกในยุคนั้น

รวมถึง David Bowie ศิลปิน glam rock ที่สาดสีสันด้านการแต่งตัวมามากมายหลายอัลบั้ม ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นแบบผู้หญิง การใส่รองเท้าส้นสูง สีผมจี๊ดจ๊าด รวมกับท่าทางเวลาแสดงของเขา ถือเป็นการสะเทือนวงการแฟชั่นในยุคนั้นด้วย ทำให้กระแส Glam rock กลายเป็นการแสดงจุดยืนทางเพศที่จับต้องได้ และเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Glam rock ค่อยๆกลายมาเป็น Safe zone สำหรับ LGBTQ+ และเข้าถึงคนจำนวนมากขึ้น


เป็นคนรักร่วมเพศไม่เกี่ยวข้องกับอาการทางจิต

จากการเป็นคนรักร่วมเพศที่ถูกมองว่าเป็นอาชญากรรมของหลายๆประเทศ รุนแรงถึงขนาดที่ว่าพวกเขาโดนทำร้ายร่างกายตามถนนจากคนที่ไม่ได้รู้จัก ซึ่งถือว่าเป็นความอยุติธรรมอย่างร้ายแรง เพราะพวกเขาเพียงต้องการใช้ชีวิตประจำวันอย่างปกติ  แนวคิดนี้นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘ยุคของคนรักร่วมเพศ’ (Homophile era) ที่เริ่มมีการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมเป็นครั้งแรกๆ รวมถึงมีการค้นคว้า ศึกษา ผลักดันงานวิจัยเพื่อพิสูจน์ว่าการเป็นคนรักร่วมเพศไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคอาการทางจิตแต่อย่างใด

เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ก็ต้องพูดถึงศิลปินร็อกอย่าง Lou Reed ที่เป็นอีกหนึ่งในผู้ร่วมขับเคลื่อนสังคม โดยนอกจากการแสดงออกผ่านการแต่งตัวแล้ว เขายังใช้เพลง “Kill your sons” เป็นสื่อกลางที่สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของสังคมที่มีต่อ LGBTQ+ ว่าในยุคนั้นมีการใช้ไฟฟ้าช็อตเพื่อรักษาอาการ “รักร่วมเพศ” อยู่จริง มีการมองคนกลุ่มนี้ว่าเกิดจากความผิดปกติทางจิต และการต่อสู้กับแนวคิดนี้ก็มาสิ้นสุดในปี 1973 ซึ่งถือว่าเป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน และการยอมรับนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในอเมริกา เพราะช่วงปี 1967 ที่อังกฤษก็ค่อยๆ ลดทอนการมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นอาชญกรรมเช่นเดียวกัน 


การก่อกำเริบสโตนวอลล์ (Stonewall riots)

การเคลื่อนไหวทางสังคมที่ถือได้ว่าเป็นก้าวใหญ่ๆ ของการเรียกร้องสิทธิ LGBTQ+ คือ เหตุการณ์ที่เรียกว่า การก่อกำเริบสโตนวอลล์ (Stonewall riots) เกิดขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน 1969 มีตำรวจบุกไปที่สโตนวอลล์อินน์ (Stonewall Inn) บาร์ที่เรียกได้ว่าเป็น Safe space ของเหล่า LGBTQ+ เพราะแน่นอนว่าในตอนนั้นไม่มีองค์กร หรือสถานที่ใดๆจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนกลุ่มนี้มากนัก ส่วนใหญ่พวกเขาจึงจะมักมารวมตัวกันที่บาร์ ที่ที่เปิดรับคนทุกประเภท ทุกรสนิยม พวกเขาสามารถรื่นเริงและแสดงความรักต่อกันได้อย่างสบายใจ บาร์นี้ตั้งอยู่ในย่านเกรนิชวิลเลจ แมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก และด้วยความที่ตำรวจ (ในยุคนั้น) ชอบเข้าตรวจบาร์หลายๆ แห่งเป็นประจำอยู่แล้ว ก็คงจะไม่แปลกอะไร แต่ประเด็นมันอยู่ที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับกลุ่มคนที่อยู่ในบาร์ ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที่ทำให้ความรุนแรงมีมากขึ้นและมีการต่อสู้กลับ ระหว่างผู้คนในนั้นและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยาวนานถึง 4 วัน 3 คืน และจากการต่อสู้เริ่มกลายเป็นการประท้วง มีการรวมตัวของผู้ประท้วงมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกได้ว่าเป็นการรวมตัวสมาชิก LGBTQ+ และผู้สนับสนุนที่มากขึ้นอย่างรวดเร็ว

17.png
18.png

แรงขับเคลื่อนทางดนตรีจากเหตุการณ์ Stonewall riots

เพลง “Lola” ของ The Kinks วงร็อกจากอังกฤษ เป็นตัวแทนของผลพวงในการขับเคลื่อนได้ดี เพลงนี้เกี่ยวกับการพบกันอย่างโรแมนติกระหว่างชายหนุ่มกับหญิงข้ามเพศในคลับ เนื้อหาเพลงบรรยายถึงความรักความรู้สึกที่ต่อสู้กับความสับสนของชายหนุ่มต่อ Lola คนนั้น จะเห็นได้ว่าสุดท้ายความรักก็คือความรัก ไม่จำเป็นต้องระบุเลยว่าใครเป็นเพศอะไร เพลงนี้วางจำหน่ายในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 1970 ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาเปิดตัวในวันที่ 28 มิถุนายน 1970 และขึ้นเป็นอันดับสองใน UK Singles Chart และอันดับเก้าใน Billboard Hot 100 นับแต่นั้นมา เพลงนี้ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในเพลงที่โด่งดังที่สุดของ The Kinks และช่วยเป็นกระบอกเสียงใหญ่ๆ ให้ LGBTQ+ ได้มากขึ้น 

The Kinks

The Kinks


สารจาก Tom Robinson สู่เพลงชาติ LGBTQ+ ในอังกฤษ

tom robinson.jpg

Tom Robinson เริ่มเป็นที่รู้จักจากการเป็นนักเคลื่อนไหว สู่การเป็นศิลปินป็อปร็อก ทำให้เขาเล็งเห็นถึงการต่อสู้ในชีวิตประจำวันของกลุ่ม LGBTQ+ มาอย่างยาวนานและเน้นย้ำถึงความยากในการใช้ชีวิตของ LGBTQ+ ในสังคมตอนนั้น เพลง ‘Glad To Be Gay’ ถูกเขียนมาสำหรับขบวนพาเหรดเกย์ไพรด์ในลอนดอนปี 1976 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ LGBTQ+ ต้องเผชิญหน้ากับสังคม แต่งขึ้นจากสี่ข้อที่วิพากษ์วิจารณ์ทัศนคติของสังคมอังกฤษที่มีต่อ LGBTQ+

  •  ข้อแรกวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจอังกฤษในการโจมตีผับ LGBTQ+ โดยไม่มีเหตุผล หลังจากมีการเลิกพระราชบัญญัติความผิดทางเพศสำหรับคนที่มีรักร่วมเพศในปี 1967 แล้ว

  •  ข้อที่สองชี้ไปถึงความใจร้ายของสังคมที่มีต่อ Gay News คือเป็นสื่อที่มักถูกดำเนินคดีในข้อหาลามกอนาจาร แต่นิตยสารอย่าง Playboy หรือหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ The Sun ที่ตีพิมพ์ภาพถ่ายเปลือยกลับไม่ได้มีผลอะไร นอกจากนี้ยังวิพากษ์วิจารณ์วิธีที่สื่อแสดงภาพคนรักร่วมเพศในหนังสือพิมพ์อย่าง Daily Telegraph, Sunday People และ Sunday Express 

  • ข้อที่สามชี้ให้เห็นถึงผลที่ตามมาจากความรุนแรงของเจ้าหน้าที่หรือใครก็ตามต่อกลุ่ม LGBTQ+ 

  • และในท่อนสุดท้าย เป็นส่วนของการร้องขอความช่วยเหลือ ส่วนนี้แต่เดิมเริ่มจากจุดมุ่งหมายเพื่อพูดถึงความขมขื่นในการเดินขบวน Pride ปี 1976 สู่การเรียกร้องความเป็นธรรมจากมุมมองที่สังคมมองพวกเขา เรียกได้ว่าเพลงนี้ ถูกเรียกว่าเป็น เพลงชาติ LGBTQ+ ในอังกฤษเลยก็ว่าได้


จุดยืนที่ต้องแลก

ทางด้าน Janis Joplin ก็มีการสร้างบุคลิกใหม่ของผู้หญิงในดนตรีร็อก นอกจากส่วนผสมความบลูส์แอฟริกันอเมริกันและริธึมแอนด์บลูส์ในงานเพลงของเธอแล้ว การแต่งกายที่ฉูดฉาด การพูดอย่างตรงไปตรงมา อารมณ์ขันที่รวมกับท่าทีที่ดูเป็นอิสระในการแสดงออก ทั้งด้านการเมืองและเรื่องเพศ(ในการเปิดตัวคนรัก) รวมถึงการสัก ถือว่าการแสดงออกของ Joplin เป็นการช่วยเปิดมุมมองของสังคมที่จำกัดกับความเป็นผู้หญิงได้เป็นอย่างดี 

แต่แน่นอนว่าทุกอย่างไม่ได้สวยงามตามที่เราอยากให้เป็นเสมอ กระแสตอบรับจากสังคมหลังจาก Elton John ศิลปินที่อัลบั้มขายดีที่สุดเป็นอันดับสามในสหรัฐอเมริกา รองจากเอลวิสและเดอะบีทเทิลส์ เรียกได้ตั้งแต่แนว R&B ไปจนถึงร็อกแบบโปรเกรสซีฟ เขาเอาอยู่ แต่หลังจากเขาออกมาแสดงจุดยืนผ่านนิตยสาร The Rolling Stones ว่าตนเป็นไบเซ็กชวล ก็มีจดหมายต่อว่ามากมายตีกลับไปยังนิตยสารดังกล่าว รวมถึงยอดอัลบั้มที่ตกลงอย่างมาก

Janis Joplin

Janis Joplin

Elton John

Elton John

Freddie Mercury

Freddie Mercury

ถึงกระนั้น Freddie Mercury นักร้องนำแห่งวงร็อกในตำนานอย่าง Queen ก็ร่วมออกมาขับเคลื่อนผ่านเพลง “I Want To Break Free” ที่นอกจากเนื้อหาเอ่ยถึงความต้องการเป็นอิสระจากกรอบเดิมๆ แล้ว การแต่งตัวของทุกคนในวงที่มาในตีม Drag as women ถือเป็นก้าวใหญ่ๆ ในการแสดงออกผ่านสื่อให้กลุ่ม LGBTQ+ ได้มีจุดยืนในสังคมมากขึ้น รวมถึง Stright people ที่ได้มุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับเพลงและความหลากหลายทางเพศ มีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจในกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น


จากโรคร้าย สู่การเปิดใจในสังคม

ช่วงปลายๆยุค 70s โรคเอดส์ระบาดทั้งในอังกฤษและอเมริกา จริงๆ เรียกได้ว่าเริ่มระบาดเกือบทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQ+ ที่มีจำนวนคนติดเยอะมากและขยายอย่างรวดเร็ว แต่ที่น่าเศร้าใจคือรัฐบาลอังกฤษและอเมริกาแทบจะไม่ทำอะไรเลยกับสิ่งที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งให้ความรู้หรือข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ 

ในขณะที่ Elton John เริ่มก่อตั้งมูลนิธิ Elton John AIDS Foundation ในปี 1988 เพื่อเป็นการโอบอุ้มคนกลุ่มนี้ให้ได้มากเท่าที่จะมากได้ ตัว Freddie Mercury ก็เริ่มเปิดเผยว่าตนเป็นไบเซ็กชวลในช่วงที่เขากำลังเผชิญหน้ากับโรคนี้อยู่เช่นกัน และเมื่อเขาเสียชีวิตลงในปี 1991 แฟนเพลงก็เริ่มตั้งสันนิษฐานกันว่า เพลง Bohemian Rhapsody ในท่อน “Mama, just killed a man, put a gun against his head, pulled my trigger, now he’s dead.” อาจจะเป็นสื่อกลางในการแสดงออกทางจุดยืนในเรื่องเพศของเขา

นอกจากนี้ การเสียชีวิตของเขานำไปสู่การสร้างการรับรู้ การระวังและป้องกันที่มีต่อโรคเอดส์  จนก่อให้เกิด Freddie Mercury Tribute ConcertWembley Stadium ที่ London มีผู้ร่วมชมกว่า 72,000 คน เกิดเป็นคอนเสิร์ตระดับตำนานที่จัดขึ้นเพื่อร่วมบริจาคให้โครงการเอดส์ โดย Freddie Mercury Tribute Concert นี้มีศิลปินระดับท็อปขึ้นแสดงมากมาย เช่น David Bowie, George Michael, Guns N' Roses, Metallica, Robert Plant, Roger Daltrey, Tony Iommi, Elton John ร่วมขึ้นแสดงกับสมาชิกของ Queen นี่ถือเป็นปรากฎการณ์สำคัญที่ทำให้การกล้าแสดงออกของคนในสังคม รวมถึงมุมมองที่มีต่อ LGBTQ+ ได้เปิดกว้างไปอีกขั้น 

ในขณะที่ดนตรีแนว punk ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทเป็นแนวเพลงใหม่ๆ แม้จะสวนทางกับเทคนิคการทำเพลงและแฟชั่นที่เป็นที่นิยมในขณะนั้น แต่ก็พบว่าผู้ชมส่วนมากเป็นกลุ่ม LGBTQ+ จึงเรียกได้ว่าการมาของดนตรี Punk มีความเชื่อมโยงกับกลุ่ม LGBTQ+ ด้วยดนตรีที่แปลกใหม่กับผู้คนที่(ถูกมองว่า)แตกต่าง เหมือนการฉีกกฎอะไรเดิมๆ ที่เคยมี และช่วยขยับไฟในสังคมที่ส่องมายังกลุ่ม LGBTQ+ 

จากหลากหลายเหตุการณ์สำคัญที่บรรดาศิลปินออกมาแสดงจุดยืนหรือผลักดันสังคมผ่านมุมมองของพวกเขาแล้ว จะเห็นได้ว่าแก่นหลักความคิดของพวกเขามองว่าการแสดงจุดยืนเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงการสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ในการฟังเพลงหรือเสพศิลปะ ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างเดียว เป็นเป็นการให้พื้นที่ “เสียง” ให้กับคนกลุ่มนี้ เปลี่ยนจากทัศคติที่ถูกแปะป้ายไว้ว่า “ความแตกต่างทางเพศ” สู่ “ความหลากหลายทางเพศ” เราทุกคนสามารถใช้ชีวิตด้วยความจรรโลงใจผ่านความหลากหลายได้ทุกอย่าง สังคม การเมือง วัฒนธรรม ศิลปะ รวมถึงดนตรี หากทุกคนเปิดใจกับความหลากหลายนี้ ก็จะเป็นส่วนผสมที่ดีในการสร้างรากฐาน “ความเท่าเทียม” ในสังคมให้แข็งแรง

 

THE LATEST

Previous
Previous

HAVE YOU HEARD? - HIGHLIGHTS : JUNE ‘21

Next
Next

N A P A N - SHAKE CHECK CHECK [HYH LOCAL PICK]