NEW WAVE MOVEMENT

NEW-WAVE-MOVEMENT_567x567.jpg

NEW WAVE การเปลี่ยนผ่านทางดนตรีคลื่นลูกใหม่

“Welcome to your life, there’s no turning back.” เทคนิคการขับร้องที่แตะคีย์ high-pitched จังหวะ upbeat ที่เน้นขยับส่ายสะโพก new wave หรือดนตรีคลื่นลูกใหม่ที่วิวัฒนาการมาจากดนตรีพังก์ร็อกในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ไม่เน้นความเกรี้ยวกราดเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคม ทว่าร้อยเรียงเรื่องราวความฝันอย่างสนุกสนาน โรแมนติก และมีชีวิตชีวา ทั้งภาพลักษณ์ที่ดูทันสมัยและการดีไซน์องค์ประกอบของดนตรีที่ลดทอนเสียงกีตาร์ เพิ่มเติมด้วยเสียงซินทิไซเซอร์ สอดแทรกศิลปะมากขึ้น เเต่ยังคงสานต่อ DIY ethic เเบบ Punk แนวคิดที่กล้าจะนำเสนอสิ่งแปลกใหม่นอกเหนือกฎเกณฑ์เดิมๆ มีความเป็นตัวของตัวเอง ตั้งแต่สไตล์การแต่งกาย ทรงผมอัดสเปรย์สุดฟูฟ่อง เมคอัพโทนสีสันสว่างไสว ไนท์คลับที่แดนซ์ฟลอร์ต้องเนืองแน่น รวมถึงการชมดนตรีสดที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น popular culture ที่ครองใจวัยรุ่นหนุ่มสาวยุคนั้นได้ดีเลยทีเดียว new wave ยังสร้างความหวังให้วงดนตรีหน้าใหม่ไร้สังกัด ได้มีโอกาสเเจ้งเกิดจาก local scene เล็กๆ อาจพูดได้เลยว่า indie rock ของศตวรรษที่ 21 อาจจะไม่สามารถมาไกลขนาดนี้ได้ ถ้าปราศจากจุดเริ่มต้นของ new wave

วง Television

วง Television

Marquee Moon (1977) ผลงานเดบิวท์ของ Television หนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดตลอดกาลจากหลายสถาบัน

Marquee Moon (1977) ผลงานเดบิวท์ของ Television หนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดตลอดกาลจากหลายสถาบัน

เพราะอะไรกันที่ทำให้ดนตรีนิวเวฟเจิดจรัสมากกว่าแค่รูปลักษณ์ภายนอกที่สื่อต่างประโคมข่าวแล้วข่าวเล่า? Hilly Kristal เจ้าของไนท์คลับ CBGB เคยเล่าถึงการแสดงสดครั้งแรกของวง Television เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 1974 “ผมคิดว่าพวกเขาคือวงโพสพังก์กลุ่มแรกๆที่จุดกระแสอะไรบางอย่างเหมือนวง Ramones, The Velvet Underground” อัลบั้ม Marquee Moon (1977) ผลงานเดบิวท์ของ Television ติดหนึ่งในลิสต์ 500 อัลบั้มยอดเยี่ยมตลอดกาลจากทางนิตยสาร Rolling Stone เเละเป็นอัลบั้มที่นักฟังเพลงเจนเนอนเรชั่นใหม่ๆยังส่งต่อให้กันฟัง Marquee Moon คือส่วนผสมของอาร์ตร็อกและแจ๊ซหลากรสชาติให้เข้าขากับท่วงทำนองอันไพเราะหนักแน่นของเนื้อเสียงที่กำลังเล่นสำนวนโต้ตอบราวบทกวีของฝรั่งเศส น่าเสียดายที่ Television วงดนตรีจากนิวยอร์กอาจไปได้ไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ในบ้านเกิดของพวกเค้า แต่กลับดังเปรี้ยงปร้างในประเทศอังกฤษหน้าตาเฉย!


Talking Heads เเละเเฟนเพลงยุคบุกเบิกของพวกเค้า Andy Warhol

Talking Heads เเละเเฟนเพลงยุคบุกเบิกของพวกเค้า Andy Warhol

อีกสองวงดนตรีที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้บุกเบิกดนตรีคลื่นลูกใหม่และถูกกล่าวขวัญมากที่สุดในยุค 1980s คือ Talking Heads กลุ่มเด็กอาร์ตสคูลลุคสะอาดสะอ้านที่ก้าวเข้ามาในซีนอันเดอร์กราวนด์มิวสิคฝั่งนิวยอร์ก รวมถึงการร่วมงานกับโปรดิวเซอร์ฝีมือจัดจ้าน Brian Eno (อดีตสมาชิกยุคบุกเบิกของวง Roxy Music) ที่ฝากฝังผลงานอย่าง More Songs About Buildings and Food (1978), Fear of Music (1979), Remain in Light (1980) สตูดิโออัลบั้มที่สร้างชื่อเสียงด้วยการจัดเรียงองค์ประกอบดนตรีที่ซับซ้อนพ่วงจังหวะชวนโยกสไตล์ afrobeat, art pop, psychedelic funk, world music ที่มีส่วนช่วยให้แนว african rock หวนคืนสู่โลกตะวันตก

David Byrne (Talking Heads) เเละโปรดิวเซอร์คู่ใจ Brian Eno

David Byrne (Talking Heads) เเละโปรดิวเซอร์คู่ใจ Brian Eno


และอีกหนึ่งวงป๊อปที่เปล่งประกายในระยะเวลาใกล้เคียงกันคือ Blondie วงดนตรีผู้พกพาความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม เจ้าของเพลงดัง “Heart of Glass” ที่หลงไหลกลิ่นอายดิสโก้ฟังก์แบบสามพี่น้อง Bee Gees และจังหวะกลอง motorik ฉบับ Kraftwerk นำทัพโดย Debbie Harry ซุปเปอร์สตาร์สาวผมบลอนด์ที่ครอบครองเสียงร้องสุดเย้ายวนชวนฝันกับบทเพลงที่ฉาบทาด้วยความสดใส แม้จะซ่อนอดีตอันน่าหวาดกลัวที่เคยหลบหนีจากฆาตกรต่อเนื่อง Ted Bunny ได้อย่างฉิวเฉียด ประสบการณ์เหล่านั้นก็คอยสะท้อนแง่มุมที่งดงามและตรึงความเข้มแข็งของผู้คนเอาไว้ได้

เดบบี้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ The Guardian เมื่อปี 2019 ว่าเธอภาคภูมิใจที่หญิงสาวทั้งหลายเข้ามามีส่วนร่วมในวงการดนตรี นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลังและยิ่งใหญ่ต่างจากยุคสมัยของเธอ

“ฉันมักเอ่ยปากชมผู้หญิงที่มีพรสวรรค์ในด้านการเขียนและเพอร์ฟอร์ม มันคือแรงบันดาลใจแสนพิเศษสำหรับฉันเสมอ” เธอกล่าว

ลีลาสุดฮอตบนเวทีของ Debbie Harry 

ลีลาสุดฮอตบนเวทีของ Debbie Harry 

Blondie

Blondie


ระหว่างที่สถานีวิทยุกำลังตื่นเต้นฮือฮา MTV หรือเคเบิลแชแนลสัญชาติอเมริกันถือโอกาสเปิดตัวในวันที่ 1 เดือนสิงหาคม 1981 เดิมทีช่องนี้มี​​ VJs นักจัดรายการโทรทัศน์ทำหน้าที่ในส่วนออกอากาศมิวสิควิดีโอเพลงพร้อมสโลแกน “You’ll Never Look at Music the Same Way Again” ขณะที่เครื่องดนตรีจำพวกคีย์บอร์ด-ซินธิไซเซอร์และซาวด์อิเลกทรอนิกส์เริ่มมีบทบาท ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่วงดนตรีหน้าใหม่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เช่นเพลง “Cars” ของศิลปินนามว่า Gary Numan เป็นแนว synthesizer dance ที่ใช้เวลาเพียง 1 อาทิตย์เศษในการขึ้น UK charts ซึ่งในเดือนธันวาคมปี 1982 Gallup Poll เผยผลสำรวจความคิดเห็นของวัยรุ่น 14% ทั่วโลกยกให้นิวเวฟเป็นแนวเพลงที่พวกเขาชื่นชอบติดท้อปสาม สังเกตจากภาพยนตร์แนว coming of age อาทิ Valley Girl (1983), Sixteen Candles (1984), The Breakfast Club (1985), Pretty in Pink (1986) ยังหยิบเอาบทเพลงของวง Echo & the Bunnymen, Orchestral Manoeuvres, The Psychedelic Furs, Thompson Twins, The Smiths, Simple Minds มาประกอบซาวด์แทร็ก หรือนี่อาจจะเป็นทางเลือกใหม่ในแวดวงเพลงป๊อปที่น่าลิ้มลองและเฉิดฉายในกระแสเมนสตรีมที่ฉุดเขาไม่อยู่จริงๆ

ซาวด์แทร็กของภาพยนตร์ Pretty in Pink

ซาวด์แทร็กของภาพยนตร์ Pretty in Pink


ปัจจุบันดนตรีคลื่นลูกใหม่หรือ new wave ยังคงแพร่หลายและทรงคุณค่าต่อผู้คนในเจเนอเรชั่นใหม่ การเปลี่ยนผ่านทางดนตรีที่มอบความสุขสมหวังให้แก่พวกเราที่อยากระลึกถึงวัยแย้มบาน ประดับประดาด้วยเนื้อหาแฝงปรัชญาชีวิต แม้จะห่างหายไปตามกาลเวลาบ้าง แต่วงดนตรีไฟแรงอย่าง The Killers เจ้าของบทเพลง “Mr.Brightside” และ “When You Were Young” ก็จุดกระแสให้แนวนี้กลับมาลุกโชนอีกครั้งในช่วงปี 2000s เช่นเดียวกับ Bloc Party, The Rapture, Drab Majesty, Franz Ferdinand, LCD Soundsystem, Soft Kill ฯลฯ รวมถึงการกำเนิดแนวเพลง subgenre แยกย่อยจำนวนนับไม่ถ้วนที่ไม่มีวันตายจาก

It’s my life, Don’t you forget. It’s my life, It never ends (It never ends).”



 

THE LATEST

Previous
Previous

#hyhthrowback : MEW

Next
Next

HAVE YOU HEARD? - HIGHLIGHTS : APRIL ‘21