HYH INTERVIEW WITH dOTT & DOGWHINE : DOGWHINE THE REMIXES


Dogwhine The Remixes คือโปรเจกต์ล่าสุดของดีเจสายอิเล็กทรอนิกส์ ต๊อบ-ภัครภณ อนันตกฤตยาธร หรือ DOTT ทำให้การดึงเอาศิลปินเดี่ยวมาทำซาวด์ที่แตกต่างออกไปจากแจ๊ซร็อคของวงดนตรีแนวทดลองอย่าง Dogwhine กลายเป็นเพลงเทคโนเฮ้าส์สุดเท่ ตั้งแต่แทร็ก “Masquerade Ball (DOTT Broke My Shoes Mix)”, “Democrazy (Bumps In The Dark)”, “Merit (DOTT Chop Chop Mix)” ห้ำหั่นด้วยโปรแกรมเพอร์คัสชั่นคู่ใจ สามแทร็กพลังสูง สลับเสียงร้อง ริฟฟ์กีตาร์กระจัดกระจายไปตามจังหวะการเคาะที่หุนหันพลันแล่น โดยรวมแล้วเป็นการผสมผสานที่สนุกสนานระหว่างพวกเขาทั้งสอง ซึ่งความตั้งใจหลักในการสร้างก็เพื่อสนับสนุนกลุ่มคนและซีนอินดี้นี้ แต่เนื่องด้วยความที่ดนตรีในบ้านเรามักไม่ได้เป็นที่รู้จักสักเท่าไหร่ เราเลยชวนพวกเขามานั่งคุยเกี่ยวกับผลงานการ collaboration ที่อยากบิวท์ให้มันไกลและเติบโตในระดับ worldwide

การเมิร์ชระหว่างดนตรีอิเล็กทรอนิกส์กับอินดี้เนี่ย มันเป็นอะไรที่กลมกล่อมและน่าสนใจนะ โดยเฉพาะโปรเจกต์นี้เหมือนเป็นการทดลองอะไรบางอย่างที่แอบทำลายกำแพงด้านดนตรีอยู่ไม่น้อย ตอนที่รู้ว่าจะได้ทำผลงานร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายรู้สึกยังไงบ้างคะ? 

แคน: ตอนผมรู้ว่าพี่ต๊อบจะเป็นคนมิกซ์ให้วงเรา ตื่นเต้นนะ แต่ไม่ได้รู้ process อะไรเท่าไหร่ งานจบก็แบบฟังเลย ชอบเลย เขาใช้ทรัพยากรต่างๆ ในเพลงคุ้มอ่ะ เหมือนไม่ต้องคุยอะไรกันมาก 

ต๊อบ: ตอนแรกมันมี 2 วงใช่ไหม เราก็เลือกวงนี้ เพราะน่าจะตรงตามสไตล์เราด้วย รู้สึกว่าโอเคกว่า แถมไม่เกินลิมิตตัวเองแบบ element มันไม่ใสๆ อ่ะ

หลังจากปล่อย 2 ซิงเกิลแรกและโปรเจกต์ร่วมกับ DOTT นอกจากพาร์ทของดนตรีแล้ว สมาชิกในวงแต่ละคนเสพอะไรกันบ้าง อาจจะเป็นงานภาพยนตร์ ศิลปะสาย graffiti สตรีทอาร์ตอะไรแบบนี้ก็ได้ค่ะ

แคน: ถ้าสตรีทอาร์ตต้องถามสองคนนี้

ต๊อด: ผมตามงานสตรีทอาร์ตเยอะ แต่ก็ไม่ได้ลงดีเทลอะไรมากครับ

แบงค์: ช่วงนี้จะชอบฝึกพ่นกำแพง วาดภาพประกอบ (ดูพี่แบงค์อินกับ streetwear) - ใช่ๆ สนุกดี

แคน: ส่วนใหญ่ผมชอบหนังสยองขวัญ พวกศิลปะ surrealism, art-deco มันก็เลยกลายเป็นเอ็มวี “Merit” มั้งครับ

Life is Shuffle Pt.1 หรืออัลบั้มชุดถัดไปของวงจะมีองค์ประกอบอื่นๆ ใส่เข้ามาเพิ่มเติมไหม?

แคน: ผมเคยวางแพลนไว้ แต่เป็นแค่เดโม่ในหัวเฉยๆ อาจจะวางไว้เป็น background เพราะมันหานักดนตรียากด้วยแหละครับ อนาคตก็ไม่แน่ คืออัลบั้มนี้จะแบ่งเป็นสองพาร์ท พาร์ทละ 7 เพลง จะปล่อยช่วงกุมภา-มีนาปีหน้า 

ปั้น: มันเป็นวิธีการทำงานที่เราไม่คุ้นด้วยแหละ จริงๆ อยากลองทำแบบที่พี่แคนบอกนะ ให้มันมีหลายชิ้น มีสเกลที่ใหญ่ขึ้น ตลอดมาคือใช้วิธีเข้าไปแจม โอเค มึงเล่น (หัวเราะ)

แคน: น่าจะคัฟเวอร์ซ้ำอีกรอบนะพี่ แบบเล่นที่พี่ต๊อบรีมิกซ์มา

ต๊อบ: โห ตายนะ (หัวเราะ)

แล้วพี่ต๊อบคิดว่า ซีนอันเดอร์กราวนด์มิวสิคสายเทคโนเฮ้าส์ในไทย มันเปิดประสบการณ์ประมาณว่า เขาอาจจะไม่ใช่สายนี้ แต่เราพอมีหนทางในการนำเสนอให้กลุ่มคนฟังเขาเข้าใจไหม?

ต๊อบ: อันนี้บอกยากเลย เพราะเพลงสายนี้มันมีหลายรูปแบบด้วย ทั้งความลึก ความยากง่ายของมัน ถ้าโชคดีมางานที่ลำโพงดี sound systems ออกมาดีมันก็เข้าใจง่าย เหมือนเพลงพวกนี้มันมีบอดี้ซ่อนอยู่ แต่หลายๆ ที่ในประเทศไทยยังไม่มีระบบเสียงที่ขับออกมาได้ร้อยเปอร์ พอฟังมันก็เก็ทแค่ 30-40% (ผับบาร์ที่ไทยก็ไม่ได้รองรับอะไรขนาดนั้น?) - ใช่ครับ มันไม่ professional เหมือนที่อื่น

ปั้น: จริงๆ เรื่องระบบเสียงมันก็มีปัญหาทั้งฝั่งของดีเจอิเล็กทรอนิกส์ด้วย วงดนตรีสดด้วย ผมคิดว่ามันเป็นผลต่อเนื่องมาจากอะไรหลายอย่าง


งั้นเราขอถามความคิดเห็นพี่ๆ เกี่ยวกับเรื่องพรบ.ฉุกเฉินหรือมาตราการ การจัดคอนเสิร์ตในตอนนี้หน่อยค่ะ

ต๊อบ: ต้องไปต่อใหม่หรอ?

แคน: ไม่ใช่ๆ ไม่ใช่ต่อทะเบียนรถพี่ (หัวเราะ)

ปั้น: เรื่องมาตราการสำหรับเรา เรามองว่าเป็นเรื่องที่พูดยากอ่ะ เพราะว่าวงดนตรีก็อยากเล่น และเข้าอกเข้าใจทุกคนที่อยากเล่น (แต่ก็ไปควบคุมเขาไม่ได้?) - ใช่ ส่วนหนึ่งเราก็อยากเซฟคนในคอมมิวนิตี้ ไม่ให้ต้องออกมาเสี่ยงอะไรกันขนาดนั้น การบาลานซ์เรื่องนี้มันเลยยาก ที่รัฐไทยพยายามทำอยู่มันก็แค่เทไปฝั่งนึงหมดเลย พี่ต๊อบว่าไงพี่

ต๊อบ: เขาเห็นพวกเราเป็นแพะรับบาป (หัวเราะ) ตอนนี้พวกอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าเปิดก็ต้องแอบเปิด เจ้าของที่ก็ต้องรู้จักเส้นสาย เมืองไทยมีแค่นี้เลยอ่ะ

ปั้น: บ้านเราช่องทางมันน้อยหรือมันเฉพาะกลุ่มด้วยอ่ะ นิชเมืองนอกเท่ากับแมสเมืองไทยเลยนะ เพราะบ้านเขามีช่องทางอื่นในการเพอร์ฟอร์มให้ audience หรือแฮปปี้กันทั้งสองฝ่าย

ต๊อบ: คนยุคใหม่ไม่ค่อย appreciate กับอะไรเท่าไหร่ ทุกอย่างมันดูฉาบฉวย สั้นลงไปเรื่อยๆ 

แบงค์: นี่คิดว่าการใช้ชีวิตมันต้องอาจจะถึงจุดที่เขาสบายและเปิดใจมารับอะไรใหม่ๆ ได้อ่ะ สมมติทำงานเช้า เย็นเลิกมา เหนื่อยก็นอนแล้วอ่ะ มันไม่มีเวลาไปเสพหรือทำกิจกรรมอย่างอื่น 

ต๊อบ: อย่างซีนอันเดอร์กราวนด์ของต่างประเทศ ถ้าสถานการณ์ประเทศยิ่งแย่ คนยิ่งออกมาปาร์ตี้กันทุกวัน ปาร์ตี้หนักกว่าเดิม เหมือนเขาหาทางออก หาที่ระบาย (บ้านเรามันเหมือนกลับกันเลยอ่ะ) 

ปั้น: ทุกอย่างมันควบคู่กัน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจด้วย สังคมด้วย โฆษณานายทุนด้วย คือข้างล่างแย่สัส แต่ข้างบนชิวๆ

ตอนนี้เราเข้าใจความรู้สึกของคนที่อยากเล่นดนตรีว่าพอไม่ได้ออกไปไหน ทางตันมันก็ดูเฉาเนอะ ในใจทุกคนมีมุมมองต่อวัฒนธรรมหรือวงการดนตรีนอกกระแสตอนนี้ยังไงบ้าง? 

ต๊อบ: ส่วนตัวถึงมันจะนิช แต่ก็มีความสุขมากกว่าที่จะให้ไปทรีทคนเยอะๆ อย่างเรื่องเพลง คนที่มาชอบผลงานเราก็จะมี mindset ความคิดคล้ายๆ กันซึ่งทำอะไรเขาก็เข้าใจในทันที เหมือนสังคมเรายังมีคอมมิวนิตี้ที่แข็งแรงอยู่ แต่เพลงเทคโนเฮ้าส์มันมีหลายสไตล์นะ แนวขยะ (techno-trash) ทำเพลงอะไรไม่รู้ก็มีเยอะแยะ

ปั้น: อย่างวงดนตรีก็มีคนที่เราพอจำหน้าได้อ่ะ เล่นงานไหนก็เจอ แต่ไม่รู้จริงๆ ว่าเขาคือใครมาจากไหน (หัวเราะ)

ต๊อบ: มันจะมีพวกยืนเฉยๆ ไม่มาไม่อะไร แต่มาทุกงานเลย เหมือนกลายเป็นเพื่อนกันไปแล้ว

อย่างงานอีเวนท์สเกลเล็ก มันมีความเป็นไปได้ไหมที่จะเอาดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มาเมิร์ชรวมกับ live band ถ้าเทียบกับมิวสิคเฟสติวัลที่มีความหลากหลายกว่า?

แบงค์: จริงๆ ก็ได้นะ คือในตอนเริ่มต้นมันอาจจะไม่ใหญ่เท่าเฟสติวัล

ปั้น: ถ้ามองความเป็นไปได้ในอนาคต มันก็มีความเป็นไปได้แหละ ฟิลแบบ Moobaan Wonder (Wonderfruit) แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นต้องเริ่มจากงานอีเวนท์เล็กๆ พอถูไถไปก่อน

แคน: Sundae Records ก็เคยทำนะ อย่างวันที่ 24 ธันวานี้มีงาน How I Found Your Sound Bar #3 จัดที่ Never Normal ย่านลาดพร้าว เดี๋ยวพี่ต๊อบมาเล่นด้วย ไว้เจอกันครับทุกคน



 

THE LATEST

Previous
Previous

NOT SO LONELY - HYH HOLIDAY PLAYLIST

Next
Next

HAVE YOU HEARD? - HIGHLIGHTS : OCTOBER ‘21